เมนู

อรรถกถากพฬิงการาหารนิทเทส


พึงทราบวินิจฉัยในนิทเทสแห่งกพฬิงการาหาร ต่อไป
อาหารที่ชื่อว่า กพฬิงการ เพราะถูกการทำให้เป็นก้อน (เป็นคำข้าว)
ชื่อว่า อาหาร เพราะอรรถว่าย่อมถูกกลืนกิน. อธิบายว่า บุคคลทำคำข้าวแล้ว
ย่อมกลืนกิน. อีกอย่างหนึ่ง ที่ชื่อว่า อาหาร เพราะอรรถว่า ย่อมนำมาซึ่ง
รูป.
พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงยกชื่อขึ้นแสดงด้วยอำนาจแห่งวัตถุอย่าง
นี้แล้ว เพื่อจะทรงแสดงอาหารนั้นนั่นแหละด้วยสามารถแห่งวัตถุอีก จึงตรัส
คำมีอาทิว่า โอทโน กุมฺมาโส (ข้าวสุก ขนมสด) ดังนี้ จริงอยู่ อาหาร
12 อย่าง มีข้าวสุกเป็นต้น มีน้ำอ้อยเป็นที่สุด เป็นวัตถุแห่งอาหารที่ทรง
ประสงค์เอาในที่นี้. อาหารมีรากไม้และผลไม้เป็นต้นที่ไม่ได้ตรัสไว้ในพระบาลี
ก็รวมเข้าในเยวาปนกธรรม.
บัดนี้ เพื่อจะแสดงอาหารเหล่านั้นมีรากไม้ผลไม้เป็นต้นโดยควรแก่
สัตว์ทั้งหลายพึงกระทำ จึงตรัสคำว่า ยมฺหิ ยมฺหิ ชนปเท (ในชนบทใด ๆ)
เป็นต้น. ในพระบาลีนั้น อาหารที่ชื่อว่า มุขาสิยํ (อันเป็นของใส่ปาก) เพราะ
อรรถว่า พึงกลืนกิน คือ พึงบริโภคทางปาก. ที่ชื่อว่า ทนฺตวิขาทนํ (ของ
ขบเคี้ยว) เพราะอรรถว่า อันสัตว์พึงขบเคี้ยวด้วยฟัน. ที่ชื่อว่า คลชฺโฌ-
หรณียํ
(ของกลืนกิน) เพราะอรรถว่า อันสัตว์พึงกลืนกินทางลำคอ.
บัดนี้ ทรงประสงค์เพื่อแสดงอาหารนั้นด้วยสามารถแห่งกิจ จึงตรัส
คำเป็นต้นว่า กุจฺฉิวิตฺถมฺภนํ (เป็นของอิ่มท้อง). จริงอยู่ อาหารนั้นมีราก
ไม้และผลไม้เป็นต้น หรือมีข้าวสุกและขนมสดเป็นต้น อันสัตว์กลืนกินแล้ว
ย่อมอิ่มท้อง นี้เป็นกิจของอาหารนั้น.